เรียนรู้นาฏศิลป์ให้สนุก

เรียนรู้นาฏศิลป์ให้สนุก
แหล่งเรียนรู้ครูพัช

วันพุธที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2554

ภาษาท่า และทักษะการเคลื่อนไหว




การแสดงนาฏศิลป์เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายเลียนแบบท่าคนและสัตว์ด้วยท่าทางอ่อนช้อยนุ่มนวลจึงเกิดเป็นท่ารำหรือนาฏยศัพท์ขึ้น ซึ่งการปฏิบัติท่าทาง กิริยาอาการต่างๆ นั้นสามารถสื่อความหมายได้แทนการพูดหรือเจรจา โดยนาฏยศัพท์ที่มีอยู่มากมายหลายท่า สามารถประดิษฐ์เป็นท่วงท่าการร่ายรำที่มีความหมาย

ทักษะการเคลื่อนไหว
นาฏศิลป์เป็นศิลปะการแสดงแขนงหนึ่ง ที่ใช้การเคลื่อนไหวและการจัดระเบียบร่างกายของมนุษย์อย่างมีจังหวะ ลีลา ทำให้เกิดภาษาท่าทางที่สามารถสื่อความหมายแทนภาษาพูด การเคลื่อนไหวท่าทางสื่ออารมณ์ เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยการใช้ แขน ขา มือ เท้า และส่วนต่างๆของร่างกาย สีหน้าแววตาต่างๆ แสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมา ซึ่งอารมณ์ที่แสดงออกมานั้นเกิดจากธรรมชาติของมนุษย์ที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันเช่น อารมณ์รัก โกรธ เสียใจ เป็นต้น การเคลื่อนไหวท่าทาง เช่นการยืน เดิน วิ่ง สามารถนำมาสร้างสรรค์ประดิษฐ์เป็นท่าทางต่างๆ ให้เกิดความสวยงามเพื่อนำมาใช้เป็นท่ารำ การเคลื่อนไหวท่าทางสื่ออารมณ์ เป็นการเคลื่อนไหว ที่นำมาใช้ในการแสดงต่างๆ เพื่อสื่อความหมายแทนคำพูดของตัวละครให้ผู้ชมเข้าใจได้ว่าตัวละครนั้นมีอารมณ์อย่างไร และเข้าใจท่าทาง อารมณ์ของตัวแสดงได้ง่ายขึ้น
หลักการแสดงนาฏศิลป์จะเน้นการแสดงออกทางการเคลื่อนไหวที่มีระบบและงดงาม ใน 2 ลักษณะ คือ การฟ้อนรำและการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกาย ที่ไม่สื่อความหมายหรืออารมณ์ที่เฉพาะเจาะจง เช่น รำหน้าพาทย์ รำเพลงช้า เพลงเร็ว ฯลฯ และการฟ้อนรำ ที่ประกอบด้วยการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น แขน ขา มือ เท้า เรือนร่าง และใบหน้าที่แสดงออกถึงอารมณ์ ส่วน การสื่อความหมาย ซึ่งเป็นลักษณะการรำใช้บท และการแสดงท่าทางในละคร เช่นรำฉุยฉาย การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ และการแสดงละครในบทบาท เป็นต้น จึงเป็นศิลปะที่ต้องใช้ การเคลื่อนไหวร่างกายด้วยการฟ้อนรำและการแสดงท่าทางการเคลื่อนไหวของร่างกายทั้ง 3 ส่วน คือ ส่วนกิ่งของร่างกาย ได้แก่ ศีรษะ แขน ขา มือ เท้า ส่วนตัวเรือนร่าง และส่วนใบหน้าให้ประสานสัมพันธ์กันอย่างกลมกลืนและสวยงาม ตลอดจนมีการแสดงอารมณ์และความรู้สึกที่สื่อไปยังผู้ชมด้วย สรุปว่าทักษะการเคลื่อนไหว หมายถึง การปฏิบัติท่าทางเคลื่อนไหวที่สื่อทางอารมณ์ความรู้สึก โดยใช้ อวัยวะส่วนต่างๆ เพื่อสื่อความหมายในการแสดง

การแปรรูปแถว

ในการแสดงประเภทระบำจะเป็นการแปรแถวในลักษณะต่างๆ โดยเน้นความสมดุลของเวทีให้มีการเคลื่อนไหว แปรแถวในรูปแบบต่างๆ โดยใช้เนื้อที่ต่างๆ ของเวทีให้เกิดความสวยงามสร้างความประทับใจแก่ผู้ชม การแปรแถวเป็นลักษณะการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง เคลื่อนที่เพื่อไม่ให้ปักหลักอยู่นาน ซึ่งลักษณะการแปรแถวของนาฏศิลป์ไทยมีหลากหลายรูปแบบ เช่น แปรแถวเป็นรูปปากพนัง แปรเป็นแถวตอน แปรแถวเป็นรูปวงกลม แปรแถวเฉียง แปรแถวหน้ากระดาน แปรแถวเป็นรูปสามเหลี่ยม เป็นต้น ซึ่งการแปรแถวดังกล่าวนั้นขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของผู้ออกแบบท่ารำ
การแสดงนาฏศิลป์ไทยสมัยโบราณไม่นิยมแปรแถวให้หลากหลายเหมือนในปัจจุบัน มักจะนิยมแถวตรง แถวเรียงหน้ากระดาน หรือแถวตอนคู่ หรือลักษณะวงกลม โดยประดิษฐ์ท่ารำ ให้เหมือนกัน ปัจจุบันได้รับอิทธิพลการแสดงของต่างประเทศ จึงนำมาประดิษฐ์ท่ารำของนาฏศิลป์ไทยให้มีการแปรแถว ตั้งซุ้ม ซึ่งผู้ประดิษฐ์ท่ารำจะต้องคำนึงถึงความกลมกลืนเป็นหลักด้วย
จุดประสงค์ในการแปรรูปแถวสำหรับการแสดงหมู่ เพื่อมิให้ผู้ชมเบื่อหน่าย และให้มี การเคลื่อนไหวบ้าง จะได้เห็นลีลาการเคลื่อนไหวที่งดงามแปลกตา มีหลักที่ควรคำนึงดังนี้
1. ถ้าเครื่องแต่งกายหลากสี การแปรรูปแถวควรคำนึงถึงสีเครื่องแต่งกายให้เหมาะสม กลมกลืนกันอย่างสวยงามเป็นระเบียบ
2. การแปรรูปแถวไม่ควรแปรถี่จนเกินไป ทำให้ผู้ชมไม่ทันได้เห็น
3. ถ้าผู้แสดงมีสีผิวต่างกัน ควรหลีกเลี่ยงการแปรรูปแถวที่แยกคนต่างผิวให้ห่างกัน อย่าให้มาชิดกัน
4. ถ้าผู้แสดงมีรูปร่างต่างกัน ในด้านความสูง ควรหลีกเลี่ยงรูปแถวที่เป็นวงกลม
5. ถ้าผู้แสดงฝีมือต่างกันจนเห็นได้ชัด ควรจัดแยกให้ห่างกัน หรือเปลี่ยนลีลาให้ถืออุปกรณ์การแสดง เช่น ช่อดอกไม้ เป็นต้น
6. การแปรแถวให้งดงามแปลกตา ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของผู้ประดิษฐ์ท่ารำนั่นเอง





2 ความคิดเห็น: