เรียนรู้นาฏศิลป์ให้สนุก

เรียนรู้นาฏศิลป์ให้สนุก
แหล่งเรียนรู้ครูพัช

วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554

แม่ท่า

แม่ท่า
การประดิษฐ์หรือออกแบบท่ารำในการแสดงนาฏศิลป์ไทยทุกประเภทจำเป็นต้องอาศัยหลักตามแบบแผนนาฏศิลป์ไทยที่เรียกว่าแม่ท่ามาเป็นแม่แบบ ซึ่งแล้วแต่ผู้ออกแบบหรือ ผู้ประดิษฐ์ท่ารำจะกำหนด แม่ท่าที่กล่าวนี้ได้แก่แม่ท่าที่อยู่ในเพลงรำแม่บท
แม่บทเล็ก เป็นท่ารำมาตรฐาน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “แม่ท่า” เช่นเดียวกับแม่บทใหญ่ ลีลากระบวนการรำสั้นกว่า แม่บทใหญ่ยาวถึง 18 คำกลอน ส่วนแม่บทเล็กมีเพียง 6 คำกลอน นิยมฝึกกันมาก เพราะนำไปแสดงออกโรงได้พอเหมาะพอดี ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป แม่บทเล็กนี้ เป็นชุดรำชุดหนึ่งในต้นเรื่องรามเกียรติ์ ตอนนารายณ์ปราบนนทุก ใช้ทำนองเพลงชมตลาดซึ่งมีลีลาเอื้อนช้านุ่มนวล เหมาะกับกระบวนการรำที่อ่อนช้อยตามลักษณะท่ารำไทยที่วางไว้เป็นแบบมาตรฐาน (พิชัย ปรัชญานุสรณ์และคณะ. 2548 :84)

แม่ท่าตามแบบแผนนาฏศิลป์ไทย
เพลงแม่บทเล็ก ( รำ )

คำร้อง จากละครเรื่องรามเกียรติ์ ภาคสวรรค์ ตอนนารายณ์ปราบนนทุก
ทำนองเพลง ชมตลาด

เทพนมปฐมพรหมสี่หน้า สอดสร้อยมาลาเฉิดฉิน
ทั้งกวางเดินดงหงส์บิน กินรินเลียบถ้ำอำไพ
อีกช้านางนอนภมรเคล้า แขกเต้าผาลาเพียงไหล่
เมขลาโยนแก้วแววไว มยุเรศฟ้อนในนภาพร
ยอดตองต้องลมพรหมนิมิต อีกทั้งพิสมัยเรียงหมอน
ย้ายท่ามัจฉาชมสาคร พระสี่กรขว้างจักรฤทธิรงค์

สรุป แม่ท่า การประดิษฐ์ท่ารำในการแสดงนาฏศิลป์ไทยทุกประเภท จำเป็นต้องอาศัยหลักตามแบบแผนนาฏศิลป์ไทยที่เรียกว่า แม่ท่า มาเป็นแม่แบบ แม่ท่าที่กล่าวนี้ได้แก่แม่ท่าที่อยู่ใน เพลงรำแม่บท เพลงรำแม่บทมี 2 ประเภทคือ แม่บทเล็กและแม่บทใหญ่ แม่บทใหญ่ยาวถึง 18 คำกลอน ส่วนแม่บทเล็กมีเพียง 6 คำกลอน จึงนิยมเพลงแม่บทเล็ก เพราะนำไปแสดงออกโรงได้พอเหมาะพอดี แม่บทเล็กนี้ เป็นชุดรำชุดหนึ่งในต้นเรื่องรามเกียรติ์ ตอนนารายณ์ปราบนนทุก สำหรับแม่ท่าที่นำมาเป็นแม่แบบในระบำชุดนี้มี 17 ท่า ดังนี้ พรหมสี่หน้า สอดสร้อยมาลา เฉิดฉิน กินริน อำไพ นางนอน ภมรเคล้า แขกเต้าเข้ารัง ผาลาเพียงไหล่ เมขลา โยนแก้ว มยุเรศ ยอดตอง พรหมนิมิตร เรียงหมอน พระสี่กรและฤทธิรงค์
การรำตีบท คือการใช้ภาษาท่าสำหรับสื่อความหมายในการแสดง เป็นการรำตามบทร้องหรือบทประพันธ์ โดยใช้ภูมิปัญญาของผู้ประดิษฐ์ท่ารำ ในการปรับเรียบเรียงท่าให้สวยงาม หลักสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการรำตีบท คือ ประเภทของการแสดง ความรู้พื้นฐานของท่ารำ ทำนองเพลง ท่วงทำนองเพลง บทร้อง เรื่องราวที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ และลักษณะของตัวละคร วิธีการรำตีบท มีดังนี้ ไม่ใช้ท่าซ้ำ หลีกเลี่ยงการใช้มือข้างเดียวในการตีบท การเอียงศีรษะต้องให้เหมาะสม และสัมพันธ์กับการใช้มือและเท้า ตีบทอย่าให้เหลื่อมบทเจรจา มีการใช้ท่าที่สวยงามถูกต้อง ให้ความหมายเด่นชัด ไม่ต้องตีบททุกคำ รู้จักดัดแปลงการรำตีบท



1 ความคิดเห็น: